ตำรวจไซเบอร์

ตำรวจไซเบอร์ หน่วยงานใหม่ที่มาปราบปรามอาชญากรรมบนโลกดิจิทัล

ในโลกที่เทคโนโลยีสารสนเทศ และอินเทอร์เน็ตเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตผู้คน ทำให้วิถีการดำเนินชีวิตของผู้คนเปลี่ยนไปเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น เราเริ่มมีการทำธุรกรรมการเงินออนไลน์บนโทรศัพท์มือถือกันมากขึ้น มีการซื้อสินค้าออนไลน์ มีการใช้บัตรเครดิตผ่านการชำระเงินออนไลน์ต่างๆ มากมาย

ในด้านของอาชญากรรมก็เริ่มมีมิจฉาชีพมากมายที่ใช้ช่องทางออนไลน์ในการหลอกเงินจากผู้เสียหาย หรือแฮ็กข้อมูลของผู้เสียหายนำไปใช้โดยไม่ได้รับความยินยอม เมื่อมีผู้เสียหายที่ถูกคุกคามในโลกออนไลน์มากขึ้น จึงทำให้ต้องมีหน่วยงานตำรวจไซเบอร์เพื่อมาช่วยเหลือ และปราบปรามมิจฉาชีพกลุ่มนี้

วันนี้เราจะมาอธิบายให้คุณรู้จักบทบาทหน้าที่ของตำรวจไซเบอร์มากขึ้น ว่าแท้จริงแล้วตำรวจไซเบอร์คือใคร? และคดีแบบไหนที่ตำรวจไซเบอร์จะต้องเข้าไปรับผิดชอบ รวมทั้งหน่วยงานไหนที่ตำรวจไซเบอร์สังกัดอยู่ ถ้ามีใครอยากทำงานในสังกัดตำรวจไซเบอร์ก็ควรจะรู้ข้อมูลเหล่านี้ไว้

ตำรวจไซเบอร์ คือใคร

ตำรวจไซเบอร์ คือ ตำรวจที่มาสอบสวนสืบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ซึ่งตำรวจที่จะมาสังกัดในกองบัญชาการตำรวจไซเบอร์นั้น จะต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นอย่างดี และมีความรู้ทางด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดทางเทคโนโลยีด้วย โดยตำรวจไซเบอร์จะมีหน้าที่ในการสืบสวนสอบสวนในคดีสำคัญๆ ที่เกี่ยวข้องการก่ออาชญากรรมทางเทคโนโลยี

สำหรับผู้ที่จะมาเป็นตำรวจไซเบอร์จำเป็นจะต้องผ่านการทดสอบตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติกำหนดถึงจะสามารถมาปฏิบัติงานเป็นตำรวจไซเบอร์ได้ โดยตำรวจไซเบอร์จะต้องสังกัดอยู่ในกองบัญชาการสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี อย่างไรก็ตามตำรวจไซเบอร์ก็ยังถือว่าเป็นเรื่องใหม่สำหรับคนไทยอยู่พอสมควร เพราะว่าเพิ่งมีการจัดตั้งกองบัญชาการตำรวจไซเบอร์ขึ้นอย่างเป็นทางการเพียงไม่กี่ปี

ดังนั้นทางกองบัญชาการตำรวจไซเบอร์ ยังคงมีความต้องการบุคลากรที่มีความสามารถทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเพิ่มเติมอยู่ โดยจะจัดให้มีการสอบคัดเลือกในทุกๆ ปี ซึ่งหากคุณอยากสอบเป็นตำรวจไซเบอร์ เพื่อปราบปรามอาชญากรรมก็สามารถเข้ารับการสอบได้

บช.สอท. คืออะไร

บชสอท.ย่อมาจาก กองบัญชาการสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (Cyber Crime Investigation Bureau : CCIB) หรือสามารถเรียกสั้นๆ ได้ว่า กองบัญชาการตำรวจไซเบอร์ ถูกจัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2563 ตามพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2563 

ในอดีตสำนักงานตำรวจแห่งชาติมีส่วนราชการระดับ “กองบังคับการ” ทำหน้าที่ในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีกระจายอยู่ในหลายหน่วยงานอยู่แล้ว แต่เนื่องด้วยการก่ออาชญากรรมทางเทคโนโลยีมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นสูง และมีผู้ได้รับความเสียหายมากขึ้น ในเมื่อมิจฉาชีพมีการปรับตัวตามยุคตามสมัย ใช้เทคโนโลยีต่างๆ เพื่อสร้างความเสียหายให้แก่ผู้คน สำนักงานตำรวจแห่งชาติจึงต้องมีการปรับตัวเช่นกัน 

เพื่อสืบสวนสอบสวน และช่วยเหลือผู้เสียหายที่ประสบกับเหล่าอาชญากรรมทางเทคโนโลยี สำนักงานตำรวจแห่งชาติจึงมีความจำเป็นต้องปรับปรุงหน่วยงานป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และจัดตั้งขึ้นเป็น กองบัญชาการสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) 

บชสอท. หรือ กองบัญชาการตำรวจไซเบอร์ มีอำนาจหน้าที่เป็นฝ่ายอำนวยการด้านยุทธศาสตร์ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติในการวางแผน ควบคุม ตรวจสอบ ให้คำแนะนำ และการเสนอแนะการปฏิบัติงานตามอำนาจหน้าที่ ดำเนินการเกี่ยวข้องกับการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีทั่วราชอาณาจักร 

นอกจากนี้ตำรวจไซเบอร์จะต้องมีส่วนช่วยในพิสูจน์หลักฐาน ตรวจสถานที่เกิดเหตุ และเก็บรวบรวมพยานหลักฐานทางดิจิทัลเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานสืบสวนสอบสวนของหน่วยงาน

อื่นๆ เพิ่มเติมด้วย ซึ่งส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับคดีสำคัญๆ

สอท คืออะไร

โครงสร้างกองบัญชาการตำรวจไซเบอร์

สำหรับโครงสร้างหน่วยงานกองบัญชาการสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือตำรวจไซเบอร์จะมีกองบังคับการทั้งหมด 7 กอง 

  1. กองบังคับการอำนวยการ
  2. กองบังคับการ 1 ทำหน้าที่ทำงานส่วนกลางดูแลพื้นที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล
  3. กองบังคับการ 2 ดูแลรับผิดชอบพื้นที่ภาคกลาง และภาคตะวันออก
  4. กองบังคับการ 3 ดูแลรับผิดชอบพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
  5. กองบังคับการ 4 ดูแลรับผิดชอบพื้นที่ภาคตอนบนและภาคเหนือ
  6. กองบังคับการ 5 ดูแลรับผิดชอบพื้นที่ภาคใต้
  7. กองบังคับการตรวจสอบ และวิเคราะห์อาชญากรรมทางเทคโนโลยี

กองบังคับการทั้งหมด 7 กองจะแบ่งพื้นที่ และหน้าที่การดูแลกันอย่างชัดเจน และถ้าหากมีคดีที่เกี่ยวข้องกันก็สามารถทำงาน และประสานงานร่วมกันระหว่างกองบังคับการได้

ตำรวจไซเบอร์มีหน้าที่อะไร

หน้าที่หลักๆ ของตำรวจไซเบอร์ คือ ความรับผิดชอบเกี่ยวกับคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีที่สำคัญๆ และมีความซับซ้อน ซึ่งตำรวจไซเบอร์จะต้องทำหน้าที่ตรวจสอบ พิสูจน์หลักฐานทางเทคโนโลยี หรืออาจจะต้องประสานงานกับหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับคดี ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อสืบหาตัวอาชญากรที่สร้างความเสียหายให้คนส่วนมาก

นอกจากนี้ตำรวจไซเบอร์ก็มีหน้าที่ในการช่วยสนับสนุนหน่วยงานอื่นๆ ในการสืบสวนสอบสวนหลักฐานต่างๆ ทางดิจิทัลด้วย และยังทำหน้าที่ช่วยเหลือกองบังคับการสืบสวนทั่วประเทศ โดยเฉพาะคดีที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับดิจิทัลในเขตพื้นที่ข้ามจังหวัด หรือข้ามประเทศ ตำรวจไซเบอร์จะเป็นผู้รับผิดชอบเอง

และถ้าหากมีคดีใหญ่ๆ ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติจะต้องการความช่วยเหลือทางด้านเทคโนโลยี และดิจิทัลเพื่อสืบหาตัวคนร้าย กองบัญชาการตำรวจไซเบอร์ก็จะเข้ามาช่วยเหลือ และสนับสนุนในการทำคดีเหล่านี้ด้วย

คดีแบบไหนควรมาหาตำรวจไซเบอร์

เมื่อคุณพอเข้าใจบทบาทหน้าที่ของตำรวจไซเบอร์แล้ว ที่นี่คุณควรจะทราบว่าคดีแบบไหนที่สามารถให้ตำรวจไซเบอร์ช่วยดำเนินการสืบสวนสอบสวนได้ ซึ่งคดีส่วนใหญ่จะต้องมีความซับซ้อน และเป็นอาชญากรรมทางเทคโนโลยีที่สำคัญ ดังต่อไปนี้   

  1. คดีเกี่ยวกับทรัพย์ซึ่งมีมูลค่าความเสียหายตั้งแต่ 30 ล้านบาทขึ้นไป 
  2. คดีเกี่ยวกับทรัพย์ที่มีจำนวนผู้เสียหายรวมกันตั้งแต่ 50 คนขึ้นไป 
  3. คดีเกี่ยวกับทรัพย์ที่มีมูลค่าความเสียหาย 10 ล้านบาทขึ้นไปและมีจำนวนผู้เสียหายตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป 
  4. คดีที่มีการกระทำความผิดเป็นขบวนการหรือกลุ่มบุคคลซึ่งต้องใช้เครื่องมือพิเศษในการสืบสวนสอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐาน 
  5. คดีที่มีลักษณะเป็นองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ 
  6. คดีที่ส่งผลเสียหายร้ายแรงต่อระบบคอมพิวเตอร์หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่มีไว้เพื่อประโยชน์สาธารณะ 
  7. คดีที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีนโยบายป้องกันและปราบปรามเป็นพิเศษ

ซึ่งคดีดังกล่าวจะเห็นได้ว่าเป็นคดีที่สร้างมูลค่าความเสียหายจำนวนมาก หรือเป็นวงกว้างต่อประชาชน และเป็นคดีที่มีความซับซ้อนจึงต้องได้รับความช่วยเหลือจากตำรวจไซเบอร์ เช่น คดีแก๊งคอลเซนเตอร์ที่หลอกให้ผู้เสียหายทำธุรกรรมทางการเงินออนไลน์ หรือคดีที่ผู้เสียหายถูกหลอกให้กรอกข้อมูลส่วนตัวทางการเงินผ่านเว็บไซต์เพื่อดูดเงินออกจากบัญชี เป็นต้น 

แต่ถ้าหากเป็นคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีที่ไม่ซับซ้อน และไม่ได้สร้างความเสียหายให้แก่ประชาชนจำนวนมาก ตำรวจไซเบอร์จะทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยเหลือสนับสนุนข้อมูลที่ต้องสืบค้นทางเทคโนโลยี รวมทั้งประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อสืบค้นหลักฐาน และพิสูจน์ทราบตัวคนร้ายร่วมกับสถานีตำรวจในท้องที่เพื่อให้ผู้เสียหายได้รับความเป็นธรรม

ตำรวจไซเบอร์กับความปลอดภัยบนโลกออนไลน์

ในปัจจุบันเมื่อสังคมโลกออนไลน์เปิดกว้างมากขึ้น ผู้คนสามารถเข้าถึงกันได้ง่าย ภัยร้าย และมิจฉาชีพจึงเข้ามาใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ เพื่อสร้างความเสียหายให้กับผู้คน บางคนโดนหลอกให้เสียทรัพย์สิน บางคนโดนนำข้อมูลไปใช้ในทางที่เสียหาย และทำให้เสียทรัพย์ด้วย ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีตำรวจไซเบอร์เพื่อมารับผิดชอบในการปราบปราม และสืบสวนคดีเหล่านี้

ซึ่งในแต่ละปีมีผู้เสียหายที่โดนหลอกเงินในโลกออนไลน์มากมาย บางคดีเป็นมูลค่าหลายสิบล้าน และรวมถึงการแฮ็กข้อมูลบัตรเครดิตต่างๆ ด้วย บางครั้งก็เป็นอาชญากรรมต่างชาติที่ใช้ช่องทางออนไลน์มาหลอกลวงผู้เสียหาย ซึ่งตรงนี้จะต้องมีตำรวจผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีสารสนเทศโดยตรงมาช่วยเหลือ จึงปฏิเสธไม่ได้ว่ากองบัญชาการตำรวจไซเบอร์ถือว่ามีบทบาทสำคัญมากๆ ในยุคที่เทคโนโลยีเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตผู้คน 

ตำรวจไซเบอร์ หน้าที่

สรุป

หากใครที่ชอบในเรื่องของเทคโนโลยีสารสนเทศ และมีความฝันที่อยากเป็นตำรวจ นี่อาจเป็นโอกาสของคุณที่จะได้เข้าทำงานกับกองบัญชาการตำรวจไซเบอร์ ซึ่งในแต่ละปีจะมีการสอบคัดเลือกเพื่อให้ผู้ที่มีความสามารถเข้ามาทำงานในหน่วยงานนี้ หากใครสนใจอยากได้คำปรึกษาในการสอบเข้า หรืออยากติวสอบเข้าทำงานเป็นตำรวจไซเบอร์ สามารถติดต่อทาง GovEntrance Police ได้เลย

GovEntrance Police มีติวเตอร์ผู้เชี่ยวชาญ และมีประสบการณ์มากมาย ในการสอบเข้าเป็นตำรวจ และพร้อมให้คำปรึกษาในเรื่องของแนวข้อสอบ และวิธีในการเตรียมตัวสอบ โดยสามารถติดต่อได้ที่เบอร์ 098-6324454 หรือ Line ได้เลย

Top