หลายๆ คนอาจคิดว่าตำรวจน้ำนั้นทำหน้าที่เหมือนกับตำรวจธรรมดา แค่ปฏิบัติหน้าที่ต่างที่สถานที่กัน แต่จริงๆ แล้วตำรวจน้ำนั้นมีหน้าที่และการปฏิบัติต่างกับตำรวจทั่วไปมาก โดยจะแบ่งหลักๆ เป็น 6 หน่วยงานภายใน ได้แก่
ฝ่ายอำนวยการ
กองกำกับการ 1 (วิศวกรรมทางเรือ)
กองกำกับการ 2 (ปฏิบัติการใต้น้ำ)
กองกำกับการ 3 (ปฏิบัติการทางเรือ)
กองกำกับการ 4-12 (ปฏิบัติการส่วนภูมิภาค)
กลุ่มเรือตรวจการณ์ (ส่วนปฏิบัติการกลาง)
ซึ่งแต่ละหน่วยงานก็จะรับผิดชอบหน้าที่ต่างกันไป หากอยากเป็นตำรวจน้ำล่ะก็ ควรจะศึกษาข้อมูลของแต่ละหน่วยงานไว้ เพื่อที่จะได้รู้จักและทำความเข้าใจก่อนสมัคร เราไปดูรายละเอียดแบบเจาะลึกกันเถอะว่าแต่ละหน่วยงานทำหน้าที่อะไรบ้าง
Table of Contents
Toggleตำรวจน้ำคือ
แต่ก่อนจะไปเจาะลึกเรื่องหน่วยงาน เราควรมาทำความรู้จักกันก่อนว่าตำรวจน้ำคือตำรวจอะไร ทำไมต้องใช้ชื่อว่าตำรวจน้ำ โดยบางคนอาจรู้จักตำรวจน้ำในชื่อตำรวจท่าเรือ ตำรวจแม่น้ำ ตำรวจอ่าว
หน้าที่หลักของตำรวจน้ำนั้น คือเป็นตำรวจที่ทำหน้าที่ดูแลความเรียบร้อยทางน้ำ
ตำรวจน้ำมีหน้าที่อะไรบ้าง
หน้าที่หลักของตำรวจน้ำคือการดูแลรักษาน่านน้ำไทยให้ปลอดภัย ช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางน้ำ ป้องกันอาชญากรรมที่เกิดทางน้ำ เช่น การค้ามนุษย์ การลักลอบขนน้ำมันเถื่อน ลักลอบขนอาวุธเถื่อน หรือลักลอบขนไม้เถื่อน เป็นต้น
นอกจากนี้ สิ่งที่ไม่เหมือนตำรวจทางบกทั่วไปเลยคือเครื่องแบบ เพราะการทำงานทางน้ำต้องอาศัยเครื่องแบบที่คล่องตัว เหมาะกับสภาพอากาศ เพื่อที่จะได้ปฏิบัติหน้าที่ได้สะดวก เครื่องแบบตำรวจน้ำจึงแตกต่างจากตำรวจทางบกมากทีเดียว
รูปแบบการทำงานของตำรวจน้ำ
หน่วยงานหลักของตำรวจน้ำมี 3 หน่วยงาน และ 12 กองกำกับการ แต่ละหน่วยงานและกองกำกับการนี้จะมีหน้าที่พิเศษดังต่อไปนี้
ฝ่ายอำนวยการ:
งานด้านธุรการ เอกสาร การบันทึก งานงบประมาณ งานประชาสัมพันธ์ รวมถึงสนับสนุนหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง
ฝ่ายยุทธการทางเรือ:
กองกำกับการ 1: ดูแลด้านวิศวกรรมทางเรือ ซ่อมบำรุงอุปกรณ์ เรือตรวจการณ์ รวมถึงอุปกรณ์สื่อสาร
กองกำกับการ 2: ดูแลการปฏิบัติการใต้น้ำ รวมถึงถวายความปลอดภัยให้กับพระมหากษัตริย์ พระราชอาคันตุกะ และดูแลทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล
กองกำกับการ 3: ดูแลป้องกันและปราบปรามการทำผิดกฎหมายอาญาในน่านน้ำไทยและ ดูแลความปลอดภัยด้านการเดินเรือ ฐานขุดเจาะปิโตรเลียม ให้เป็นไปตามข้อตกลงขององค์กรทางทะเลระหว่างประเทศ (IMO)
ฝ่ายปฏิบัติการ:
ดูแลความปลอดภัยทั้งฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำโขง อ่าวไทยทั้งตอนบนตอนล่าง รวมทั้งทะเลอันดามัน
กองกำกับการ 4: รับผิดชอบพื้นที่ตั้งแต่ลำน้ำเจ้าพระยาในจังหวัดอยุธยาจนถึงกรุงเทพฯ รวมทั้งชายฝั่งทะเลอ่าวไทยในกรุงเทพฯ สมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม และประจวบคีรีขันธ์
กองกำกับการ 5: รับผิดชอบพื้นที่ชายฝั่งทะเลอ่าวไทยในชลบุรี ฉะเชิงเทรา ระยอง จันทบุรี และตราด
กองกำกับการ 6: รับผิดชอบพื้นที่ชายฝั่งทะเลอ่าวไทยในสุราษฎร์ธานี ชุมพร และนครศรีธรรมราช
กองกำกับการ 7: รับผิดชอบพื้นที่ชายฝั่งทะเลอ่าวไทยในสงขลา ทะเลสาบสงขลา ปัตตานี และนราธิวาส
กองกำกับการ 8: รับผิดชอบพื้นที่ชายฝั่งทะเลอันดามันในภูเก็ต ระนอง และพังงา
กองกำกับการ 9: รับผิดชอบพื้นที่ชายฝั่งทะเลอันดามันในตรัง กระบี่ และสตูล
กองกำกับการ 10: รับผิดชอบพื้นที่ลำน้ำโขงในมุกดาหาร นครพนม อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี
กองกำกับการ 11: รับผิดชอบพื้นที่ลำน้ำโขงในหนองคาย เลย และบึงกาฬ
กองกำกับการ 12: รับผิดชอบพื้นที่ลำน้ำโขงในเชียงแสน จังหวัดเชียงราย
ซึ่งแต่ละหน่วยจะมีเรือตรวจการขนาดระวาง 110-180 ฟุต สำหรับกลุ่มเรือตรวจการของแต่ละหน่วยอีกด้วย
อยากเป็นตำรวจน้ำต้องเรียนอะไร
การสมัครเป็นตำรวจน้ำ แบ่งได้ 2 วิธีคือ สมัครผ่านประเภทนักเรียนหรือประเภทบุคคลธรรมดา
ประเภทนักเรียน
ใช้วุฒิการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4:
ผ่านการศึกษาจากโรงเรียนเตรียมทหารตามหลักสูตร 2 ปี และหลักสูตรโรงเรียนนายเรือต่ออีก 2 ปี
การเตรียมตัวเข้าโรงเรียนเตรียมทหารมีคุณสมบัติดังนี้
- มีอายุระหว่าง 16-18 ปี
- เพศชาย
- จบจากชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 หรือหลักสูตรเทียบเท่าตามที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด
เกณฑ์การคัดเลือกเข้าโรงเรียนเตรียมทหาร
- แบ่งเป็น 2 รอบ
- รอบแรกสอบด้านวิชาการโดยใช้วิชาหลักอย่างคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาอังกฤษ และภาษาไทยในการทดสอบ
- เมื่อผ่านการทดสอบด้านวิชาการแล้วจะเป็นการสอบสัมภาษณ์และทดสอบสมรรถภาพตามลำดับ
เมื่อเรียนจบครบตามหลักสูตรแล้ว จะได้รับวุฒิเทียบเท่ามัธยมศึกษาปีที่ 6 หลักสูตรวิทย์-คณิต
ใช้วุฒิการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ประกาศนียบัตรวิชาชีพ ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง:
ต้องผ่านหลักสูตร 2 ปีของทางโรงเรียนชุมพลทหารเรือก่อน
การเตรียมตัวเข้าโรงเรียนชุมพลทหารเรือมีคุณสมบัติดังนี้
- มีอายุระหว่าง 17-20 ปี
- เพศชาย
- จบจากชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 หรือมีประกาศนียบัตรวิชาชีพ ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง หลักสูตรเทียบเท่าตามที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด
สำหรับใครที่ใช้วุฒินี้ยื่นสมัคร เมื่อจบการศึกษาจากโรงเรียนเตรียมทหารจะได้รับยศสิบตำรวจตรี สามารถบรรจุเข้าทำงานในส่วนตำรวจน้ำได้ และเมื่อรับราชการครบ 1 ปี ก็จะสามารถสอบเข้าโรงเรียนนายร้อยตำรวจได้ด้วย แต่ต้องมีอายุไม่เกิน 25 ปี
ประเภทบุคคลทั่วไป
สามารถใช้วุฒิปริญญาตรีสมัครได้ โดยเกณฑ์การคัดเลือกตำรวจน้ำจะเหมือนกับทหารเรือทุกอย่าง สามารถอ้างอิงจากคุณสมบัติผู้สมัครในเว็บไซต์ที่รับสมัคร ซึ่งหากบุคคลทั่วไปที่อยากเป็นตำรวจ สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่บทความ อยากเป็นตำรวจ ได้เลย!
กองบังคับการตำรวจน้ำคืออะไร มีที่มาอย่างไร
จุดเริ่มต้นของตำรวจน้ำเริ่มตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ประเทศไทยยังต้องพึ่งพาการขนส่งทางน้ำเพื่อทำการนำเข้าและส่งออกสินค้าต่างๆ แต่สมัยนั้นประเทศไทยเรายังไม่มีคนดูแลในเรื่องนี้
ในปี พ.ศ. 2490 ช่วงเดือนธันวาคม จึงได้มีการจัดตั้งกองกำลังพิเศษจากกองทัพเรือ เพื่อมาดูแลรักษากฏหมายทางทะเล แต่ด้วยความรับผิดชอบที่มากมายของกองทัพเรือ ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ตรงนี้ได้อย่างเต็มที่ อีก 5 ปีต่อมา หรือใน พ.ศ. 2495 กองบังคับการตำรวจน้ำจึงได้ถือกำเนิดขึ้น
เครื่องหมายประจำหน่วยของตำรวจน้ำ
เครื่องหมายราชการประจำหน่วยงานกองบังคับการตำรวจน้ำ
ตามพระราชบัญญัติปีพ.ศ. 2482 เครื่องหมายของตำรวจน้ำจะประกอบไปด้วย
- สมอ: ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แทนตัวของกองบังคับการตำรวจน้ำ
- โล่เขน: ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แทนตัวของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
- ลายพรรณพฤกษา ลายใบเทศ: ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แทนความหมายของการเจริญเติบโตของหน่วยงาน
ธงเจ้าพนักงานตำรวจน้ำ
ตามพระราชบัญญัติปีพ.ศ. 2522 ธงของตำรวจน้ำ จะต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้
- เป็นสามเหลี่ยมหน้าจั่ว
- ฐานด้านติดกับคันธงกว้าง 1 ส่วน
- ผืนธงมีความยาว 3 ส่วน
- ช่วงต้นจากคันธง 1 ส่วน สีเดียวกับธงชาติไทย
- ส่วนที่ 2 และ 3 ถึงปลายธงเป็นสีเลือดหมู ตรงกลางมีพระแสงดาบเขนและโล่สีเหลือง
โดยเจ้าพนักงานจะต้องชักธงเพื่อแสดงตนขณะปฏิบัติหน้าที่
ทักษะที่ควรมีเมื่อประกอบอาชีพตำรวจน้ำ
เมื่ออยากทำอาชีพตำรวจสิ่งที่ควรมีเมื่ออยากทำอาชีพนี้เลยคือความรู้เกี่ยวกับกฎหมายและวิชาชีพตำรวจ แน่นอนว่านอกเหนือจากนี้แล้วยังต้องมีใจซื่อสัตย์ พร้อมรับใช้ประชาชนและปฏิบัติหน้าที่อย่างสุจริต
แต่เมื่อพูดถึงตำรวจน้ำแล้วทักษะที่สำคัญที่สุดก็คงไม่พ้นการว่ายน้ำและการกู้ชีพเพื่อที่จะได้สามารถช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางน้ำได้อย่างทันท่วงที
เตรียมตัวสอบเป็นตำรวจน้ำทำอย่างไรดี
หากสมัครเข้าโรงเรียนนายเรือโดยตรงก็จะมีตัวเลือกระหว่างตำรวจน้ำและทหารเรือ โดยการสอบเข้านั้นจะเหมือนกับการสมัครทหารเรือทุกอย่าง ซึ่งประกอบไปด้วยรายวิชาดังนี้
- ความรู้ทั่วไปและความเข้าใจเกี่ยวกับระเบียบของสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยพนักงานราชการ พ.ศ. 2547
- ความสามารถเฉพาะตำแหน่ง หรือวิชาสารบรรณ
- ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับหน่วยงานกองบังคับการตำรวจน้ำ
- ความรู้เกี่ยวกับการใช้คอมพิวเตอร์ขั้นพื้นฐาน (โปรแกรม Microsoft Word, Excel, PowerPoint)
- ความรู้ด้านวิชาการ
- การฝึกปฏิบัติ ซึ่งจะเป็นการสอบสัมภาษณ์ ทดสอบสุขภาพจิต สุขภาพกาย และสมถรรภาพร่างกาย
โดยผู้สมัครสอบจะต้องเตรียมหลักฐานการสมัครที่ประกอบไปด้วย
- รูปถ่ายผู้สมัคร (สีหรือขาวดำ) ขนาด 4 x 6 cm. รูปถ่ายปัจจุบันไม่น้อยกว่า 3 เดือนนับจากวันที่สมัคร
- ทะเบียนบ้านของผู้สมัคร บิดาและมารดาของผู้สมัคร
- ทะเบียนสมรสของบิดามารดา
- สูติบัตร
- บัตรประจำตัวประชาชน
- ปริญญาบัตร หรือใบแสดงผลการเรียน (Transcript)
- ใบสด.๘ ใบสด.๙ หรือใบสด.๔๓
- กรณีข้าราชการหรือลูกจ้างประจำต้องมีใบอนุญาตและหนังสือรับรองความประพฤติ
ซึ่งอาจจะมีรายละเอียดยิบย่อยมากกว่านี้ ผู้สมัครสามารถติดตามข่าวสาร คุณสมบัติ การเตรียมหลักฐานได้ทางเว็บไซต์ของหน่วยงาน
สรุป
อาจจะดูเหมือนว่าการสอบตำรวจน้ำดูเป็นเรื่องที่ยุ่งยาก แต่หากเรามีคนที่คอยให้คำปรึกษาหรือคอยติวให้ก็จะเป็นเรื่องง่ายมากขึ้น เพราะทำให้เรารู้แนวทางข้อสอบ รวมถึงข้อมูลที่จำเป็นต่างๆ ที่เราอาจตกหล่นไป
หากใครที่อยากลองสอบเป็นตำรวจและต้องการที่ปรึกษา คนติวสอบให้ สามารถติดต่อเราได้เลยที่ช่องทางติดต่อด้านล่าง